ประวัติ ของ จีโรลาโม ซาโวนาโรลา

เบื้องต้น

ซาโวนาโรลาเกิดที่เฟอร์ราราเมืองหลวงของอาณาจักรดยุคแห่งเฟอร์ราราในเอมิเลีย-โรมานยาทางตอนเหนือของอิตาลี ในครอบครัวที่เป็นที่น่านับถือและมีฐานะดีที่เดิมมาจากปาดัว

เมื่อยังเยาว์วัยซาโวนาโรลาได้รับการศึกษาเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล, นักบุญโทมัส อควีนาส และ อริสโตเติล และได้รับการศึกษาขั้นอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยเฟอร์ราราและดูเหมือนว่าจะได้รับปริญญาทางด้านศิลปะ ความคิดที่เกี่ยวกับความฉ้อโกงทางจริยธรรมของนักบวชเริ่มขึ้นในกวีนิพนธ์ที่ซาโวนาโรลาเขียนเมื่ออายุ 20 ปี ชื่อ “De Ruina Mundi” (ความเสื่อมสลายของโลก) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำลายล้างโลก ในช่วงนี้ซาโวนาโรลาก็เริ่มพัฒนาความคิดเห็นเกี่ยวกับสามัญสำนึกทางจริยธรรม ในปี ค.ศ. 1475 ในโคลง “De Ruina Ecclesiae” (ความเสื่อมสลายของโบสถ์) ซาโวนาโรลาแสดงความเหยียดหยามสำนักงานบริหารของศาสนจักร (Roman Curia) โดยใช้คำว่า “a false, proud whore” (ผู้เกาะกินกับศาสนาผู้ผยองตน)

นักบวช

อนุสาวรีย์ของซาโวนาโรลาที่เมืองเกิดเฟอร์ราราในอิตาลี

ซาโวนาโรลารับศีลเป็นนักบวชลัทธิโดมินิกันในปี ค.ศ. 1475 ระหว่างยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของอิตาลี และเข้าใช้ชีวิตในสำนักสงฆ์ซานโดเมนนิโคในโบโลนยา จากนั้นก็หมกมุ่นกับการศึกษาทางด้านคริสต์ศาสนปรัชญา ในปี ค.ศ. 1479 ซาโวนาโรลาก็ย้ายไปยังสำนักสงฆ์ซานตามาเรียเดกลิอันเจลี และในที่สุด ในปี ค.ศ. 1482 ทางลัทธิก็ส่งตัวไปฟลอเรนซ์ แต่ซาโวนาโรลายังคงเป็นนักเทศน์มือใหม่ผู้ไม่ค่อยมีฝีปากเท่าใดนัก เมื่อเดินทางไปถึงฟลอเรนซ์ ก็ไม่ได้สร้างความประทับใจเท่าใดนัก ในคริสต์ทศวรรษที่ 1480 ซาโวนาโรลาเดินทางกลับโบโลนยา และในปี ค.ศ. 1487 ก็ได้เป็น 'Master of studies’

ซาโวนาโรลากลับมายังฟลอเรนซ์อีกครั้งในปี ค.ศ. 1490 ก่อนหน้านักปรัชญาจิโอวานนิ พิโค เดลลา มิรานโดลา และเริ่มเทศนาอย่างกระตือรือร้นถึงวันแห่งความสิ้นสุด (End time) ที่เป็นบทเทศนาที่ประกอบกับคำให้การเกี่ยวกับมโนทัศน์ของตนเอง และการประกาศว่าตนเองเป็นผู้มีโอกาสได้ติดต่อกับพระเจ้าและนักบุญได้โดยตรง การเทศนาอันเต็มไปด้วยพลังชักจูงของซาโวนาโรลาไม่ใช่เป็นสิ่งที่พิเศษแต่อย่างใดในยุคนั้น แต่เหตุการณ์แวดล้อมหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นช่วยส่งเสริมให้ซาโวนาโรลากลายเป็นนักเทศน์ที่ได้รับความนิยมของประชาชนอย่างกว้างขวาง วิกฤติการณ์แรกที่สนับสนุนปรัชญาการสิ้นโลกของซาโวนาโรลาเกิดขึ้นเมื่อ อำนาจของตระกูลเมดิชิเริ่มอ่อนแอลงเพราะสงครามฝรั่งเศส-อิตาลี ความรุ่งเรืองของศิลปะอันมีค่าที่สร้างขึ้นในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาที่อุปถัมภ์โดยตระกูลผู้มั่งคั่งของอิตาลี ดูเหมือนจะเยาะเย้ยความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นทั่วไปในอิตาลี และเริ่มสร้างความไม่พึงพอใจให้แก่ประชาชนมากขึ้นทุกขณะ วิกฤติการณ์ที่สองคือการระบาดของซิฟิลิส (หรือที่เรียกกันว่า “ฝีดาษฝรั่งเศส”) และปี ค.ศ. 1500 ก็ใกล้เข้ามาทุกขณะซึ่งเป็นตัวเลขของคริสต์ศตวรรษที่ดูจะก่อให้เกิดความรู้สึกว่า ใกล้จะถึงเวลาที่พระเยซูจะเสด็จมาก่อนการตัดสินครั้งสุดท้าย (Millennialism) ซึ่งเป็นเรื่องที่พ้องกับเนื้อหาการเทศนาของซาโวนาโรลา[1]

หน้าชื่อของบทเทศนาของซาโวนาโรลาภาษาเช็กปี ค.ศ. 1576

สถานที่เทศน์ประจำของซาโวนาโรลา, คอนแวนต์ซานมาร์โค เมืองฟลอเรนซ์, จะแน่นล้นไปด้วยผู้ที่มารับศีลมหาสนิทและฟังเทศน์ ซาโวนาโรลาไม่ใช่ นักคริสต์ศาสนวิทยาและไม่ได้ประกาศทฤษฎีเทววิทยาใหม่หรือคำสั่งสอนที่ยากต่อการเข้าใจ แต่แทนที่ซาโวนาโรลาจะเทศนาถึงวิถีการดำรงชีวิตของผู้เป็นคริสเตียนโดยการเป็นคนดี, รักษาคุณธรรม แทนที่จะแสดงตนว่าเป็นผู้เคร่งศาสนาและประกาศตนอย่างออกนอกหน้าอย่างหรูหรา และไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันคริสต์ศาสนาในกรุงโรม ซาโวนาโรเพียงแต่ต้องการที่จะหันพระสันตะปาปาและคฤหัสน์ผู้เป็นสำนักงานบริหารของศาสนจักร ที่ซาโวนาโรเห็นว่าออกนอกทาง ให้กลับเข้ามาเป็นคริสเตียนที่ดี

ลอเรนโซ เดอ เมดิชิผู้นำคนก่อนของฟลอเรนซ์และผู้อุปถัมภ์จิตรกรยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาหลายคนเองก็เคยเป็นผู้อุปถัมภ์ซาโวนาโรลา แต่ต่อมาลอเรนโซและบุตรชายเปียโรก็กลายเป็นเป้าหมายในการเทศนาโจมตีของซาโวนาโรลา

ผู้นำของฟลอเรนซ์

หลังจากที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศสเดินทัพมารุกรานฟลอเรนซ์ในปี ค.ศ. 1494 ตระกูลเมดิชิผู้ปกครองฟลอเรนซ์ก็ถูกโค่นอำนาจ ซาโวนาโรลาจึงกลายมาเป็นผู้นำของฟลอเรนซ์โดยปริยายในบทบาทของผู้นำทางศาสนาและทางการเมือง ซาโวนาโรก่อตั้งสาธารณรัฐขึ้นในฟลอเรนซ์ ที่เป็นลักษณะที่เรียกว่า “สาธารณรัฐคริสเตียนและศาสนา” รัฐกฤษฎีกาฉบับแรกที่ออกคือการระบุว่าการสมสู่วัจมรรคที่เดิมเป็นความผิดที่มีโทษถูกปรับเป็นโทษถึงประหารชีวิต รักร่วมเพศที่เดิมเป็นพฤติกรรมที่พอจะเป็นที่ยอมรับก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้ผู้รักร่วมเพศที่มีฐานะดีหนีออกจากเมืองกันไปตามๆ กัน ศัตรูคนสำคัญของซาโวนาโรลาคือดยุคแห่งมิลาน และสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ผู้ออกประกาศจำกัดสิทธิต่อต้านซาโวนาโรลาหลายฉบับ ที่ซาโวนาโรลาทำเพิกเฉย

ภาพการประหารชีวิตของซาโวนาโรลาที่จตุรัสซินยอเรียในฟลอเรนซ์

ในปี ค.ศ. 1497 ซาโวนาโรลาและผู้ติดตามทำการก่อ “พระเพลิงเผากิเลส” (Bonfire of the Vanities) โดยการส่งเด็กไปตามบ้านเรือนเพื่อรวบรวมสิ่งถือว่าเป็นสิ่งก่อให้เกิดความหย่อนตัวทางจริยธรรมที่รวมทั้ง: กระจก, เครื่องสำอาง, ภาพลามก, หนังสือนอกศาสนา, ประติมากรรมที่ถือว่าขาดจริยธรรม, โต๊ะเล่นเกม, หมากรุก, เครื่องดนตรี, เสื้อผ้าหรูหรา, หมวกสตรี และงานที่ถือว่าขาดจริยธรรมของกวีโบราณ และนำมาเผาในกองเพลิงใหญ่กลางจตุรัสซินยอเรียในฟลอเรนซ์[2] งานจิตรกรรมของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาอันมีค่าหลายชิ้นเสียไปกับพระเพลิงของซาโวนาโรลาครั้งนี้ — รวมทั้งภาพเขียนหลายภาพโดยซานโดร บอตติเชลลีที่กล่าวกันว่าบอตติเชลลีโยนเข้าไปในกองเพลิงด้วยตนเอง[3]

แต่ไม่นานนักฟลอเรนซ์ก็หมดความนิยมในตัวของซาโวนาโรลาเพราะความผันผวนทางการเมืองและทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการเป็นปฏิปักษ์ต่อการค้าขายทำรายได้ของซาโวนาโรลาเอง พระเจ้าก็ดูเหมือนว่าไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือสถานการณ์ของเมืองฟลอเรนซ์ให้ดีขึ้น วันแห่งความสิ้นสุดที่กลัวกันว่าจะเกิดขึ้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นตามที่คาดกันไว้ เมื่อนักเทศน์ฟรานซิสคันท้าให้ทำการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วยไฟซาโวนาโรลาก็ปฏิเสธซึ่งทำให้ผู้ติดตามเริ่มหันหลังให้

ระหว่างการเทศนาในโอกาสวันอัสสัมชัญของพระเยซูเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1497 ก็เกิดการก่อความไม่สงบโดยเด็กวัยรุ่นที่บานปลายเป็นการปฏิวัติ โรงร้องเพลงเต้นรำที่ถูกปิดไปก็เปิดขึ้นอีก และผู้คนก็กล้าที่จะเล่นการพนันกันอย่างไม่เป็นที่ปิดบัง

การคว่ำบาตรและการประหารชีวิต

แผ่นโลหะจารึกจุดที่ซาโวนาโรลาถูกประหารชีวิตที่จตุรัสซินยอเรียในฟลอเรนซ์

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1497 ซาโวนาโรลาถูกประกาศ คว่ำบาตรโดยสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 และในปี ค.ศ. 1498 พระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ก็ทรงเรียกร้องให้มีการจับกุมและลงโทษซาโวนาโรลา เมื่อวันที่ 8 เมษายนปีต่อมาฝูงชนก็เข้าโจมตีคอนแวนต์ซานมาร์โค, ฟลอเรนซ์ ตามด้วยการเสียเลือดเนื้อที่ทำให้ผู้รักษาความปลอดภัยและผู้สนับสนุนซาโวนาโรลาหลายคนถูกสังหาร ซาโวนาโรลายอมให้ถูกจับกุมพร้อมด้วยภราดรโดเมนนิโคดาเพสเชียและภราดรซิสเวสโทรผู้ใกล้ชิดสองคน ซาโวนาโรลาถูกกล่าวหาในข้อหาต่างๆ ที่รวมทั้งมีพฤติกรรมที่นอกรีต, กล่าวคำพยากรณ์, การปลุกระดมฝูงชนให้ต่อต้านรัฐบาล และ อาชญากรรมอื่นๆ

ระหว่างสองสามอาทิตย์ต่อมานักบวชทั้งสามองค์ก็ถูกทรมานบนตระแกรง ยกเว้นแต่แขนขวาของซาโวนาโรลาเพื่อเอาไว้ใช้ในการลงชื่อในคำสารภาพ ในที่สุดนักบวชทั้งสามก็ลงชื่อในคำสารภาพ ซาโวนาโรลาลงชื่อก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม ในวันเดียวกันซาโวนาโรลาก็เขียนบทวิปัสนา "Miserere mei" (บทขอขมาพระเจ้า -- เพลงสดุดี 50) ชื่อ "บทขอขมาพระเจ้าโดยซาโวนาโรลา" (Infelix ego) จบที่ซาโวนาโรลาขอความกรุณาจากพระเจ้าเพราะความอ่อนแอของตนเองในการไปสารภาพในสิ่งที่ตนไม่เห็นว่าผิด ในวันที่ถูกประหารชีวิต 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1498 ซาโวนาโรลาก็ยังคงดำเนินการเขียนบทวิปัสนา ครั้งนี้เป็นเพลงสดุดี 31 ชื่อ Tristitia obsedit me[4]

ไฟล์:Museo di San Marco, reliquie di savonarola.JPGวัตถุมงคลของซาโวนาโรลาที่รวมทั้งเสื้อและเข็มขัดติดปุ่มโลหะที่ใช้ในการทำมังสฆาต (Mortification of the flesh) (พิพิธภัณฑ์ซานมาร์โค)

ในวันที่ถูกประหารชีวิตซาโวนาโรลาถูกนำตัวไปยังจตุรัสซินยอเรียพร้อมด้วยภราดรโดเมนนิโคดาเพสเชียและภราดรซิสเวสโทร เมื่อไปถึงนักบวชทั้งสามคนก็ถูกถอดเครื่องแต่งกายนักบวชออก และถูกหยามว่าเป็น "ผู้นอกรีตและผู้ก่อให้เกิดความแตกแยก" จากนั้นทางสถาบันศาสนาก็มอบตัวให้กับฝ่ายฆราวาสเพื่อให้ทำการเผา ทั้งสามคนถูกห้อยจากเสากางเขนเดียวกันเหนือกองไม้ใหญ่ จากนั้นก็ถูกเผาทั้งเป็น ฉะนั้นทั้งสามคนจึงถูกเผาในที่เดียวกับที่มีการจัด “พระเพลิงเผากิเลส” ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น เภสัชกรลูคา ลันดูชชิผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวว่าการเผาใช้เวลาหลายชั่วโมงก่อนที่จะเผาเสร็จ และสิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ก็ได้ทำการบดทำลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจนสิ้นเพื่อไม่ให้มีร่องรอยหลงเหลืออยู่ เพราะทางการไม่ต้องการให้ผู้เชื่อถือในตัวซาโวนาโรลามีโอกาสได้เก็บชิ้นส่วนไปเป็นองควัตถุสำหรับสักการะเพราะถือว่าเป็นนักบุญ ขี้เถ้าก็นำไปโยนลงในแม่น้ำอาร์โนข้างสะพานเวชชิโอ[5]

นิคโคโล มาเคียเวลลีผู้ประพันธ์ The Prince ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เห็นเหตุการณ์และเขียนบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นฟลอเรนซ์ก็ถูกปกครองแบบสาธารณรัฐจนกระทั่งตระกูลเมดิชิกลับมาปกครองอีกครั้งในปี ค.ศ. 1512

ลักษณะและอิทธิพล

พฤติกรรมของซาโวนาโรลาเปรียบได้กับลัทธิฌ็องเซ็น (Jansénisme) ที่เกิดขึ้นต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 และมีความต่างกันหลายอย่างทางด้านปรัชญา ซาโวนาโรลามิได้เสนอหลักปรัชญาเทววิทยาใหม่ แต่หลักการหันกลับไปยึดหลักจริยธรรมอย่างเที่ยงตรงคล้ายคลึงกับหลักของลัทธิฌ็องเซ็น และการตกนรกอันง่ายดายและจำนวนผู้ที่จะได้เลือกให้ขึ้นสวรรค์อันจำกัดเป็นอีกข้อหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน

หลังจากการเสียชีวิตของซาโวนาโรลาแล้วก็ได้มีกลุ่มโรมันคาทอลิกที่ก่อตัวกันขึ้นอย่างลับๆ ในฟลอเรนซ์ชื่อปิยาโนนิที่เป็นองค์การเชิงโรมันคาทอลิก โดยมีนักบวชฟรานซิสคันเป็นผู้นำในบรรดาคนสำคัญในกลุ่ม ในปี ค.ศ. 1527 ปิยาโนนิก็มีบทบาทในการโค่นอำนาจตระกูลเมดิชิ แต่ก็มาถูกปราบปรามด้วยความช่วยเหลือของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในปี ค.ศ. 1530 ในยุทธการกาวินานา ตระกูลเมดิชิจึงกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง

ซาโวนาโรลามีผู้ชื่นชมกันมากไปทั่วยุโรปโดยเฉพาะในบรรดานักมนุษยนิยมผู้เคร่งครัดทางศาสนาผู้ต้องการที่จะดำรงความเคร่งครัดทางศาสนาทางด้านจิตวิญญาณ กล่าวกันว่าอีราสมัสผู้ไม่ยอมเปลี่ยนไปเป็นโปรเตสแตนต์และยังยึดมั่นในการเป็นโรมันคาทอลิกหลังจากที่ได้อ่านงานเขียนของซาโวนาโรลา แต่ในขณะเดียวกันอีราสมัสก็ถือกันว่าเป็นผู้ปูทางให้แก่การปฏิรูปศาสนาที่เกิดขึ้นต่อมาเพราะการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระสันตะปาปา.

ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็ได้มีกลุ่มโรมันคาทอลิกทำการรณรงค์ที่จะยกซาโวนาโรลาขึ้นเป็นนักบุญโดยเฉพาะในบรรดาโดมินิคันโดยมีผู้ที่มีความเห็นว่าการคว่ำบาตรและการถูกเผาทั้งเป็นที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม แต่ลัทธิเยซูอิดค้านข้อเสนอนี้และถือว่าความขัดแย้งทางการเมืองต่อสถาบันพระสันตะปาปาที่ก่อขึ้นโดยซาโวนาโรลาเป็นอาชญากรรมที่ไม่ถูกต้อง[6]